การนำเสนอกราฟยังไงให้คนเข้าใจผิด

Teerayut Hiruntaraporn
3 min readJun 3, 2021

--

จริงๆที่มาที่ไปก็มาจากข่าวในช่วงนี้ที่เอากราฟมาแสดงนี่แหละครับ ซึ่งอันที่จริงมันควรจะเป็นอะไรที่ดี ทำให้คนเข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม มันก็มีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้คนสรุปความผิดจากข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นด้วย

ซึ่งส่วนตัวก่อนหน้านี่ตอนที่ได้ทำ Paper ในช่วงปริญญาโทครั้งแรก อาจารย์ที่ปรึกษากาแดงตรงกราฟเป็นที่แรกเลย พร้อมกับแนะนำว่า แบบนี้มันจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่

แต่ปัจจุบัน ด้วยเรื่องของพฤติกรรมต่างๆ ที่รู้มากขึ้นก็ทำให้เข้าใจได้ว่ามันมีปัญหาอย่างไร

โดยที่มาและรูปตัวอย่างก็มาจาก Wikipedia ครับ (หากินง่ายจริงๆ)

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ขอแจ้งไว้ก่อนว่า

ส่วนตัวไม่ทราบได้ว่างานนำเสนอที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นการเจตนาหรือไม่ เพราะในอดีตก็มี ซอฟท์แวร์ทำกราฟที่จะทำอะไรแบบนี้โดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้ไม่ได้ระวังตัวเช่นเดียวกัน

1. การบิดเบือนจาก Perspective ของ Pie Chart 3 มิติ

รูปแรก มองผ่านๆ แล้ว คิดว่า Item C กับ A อันไหนมากกว่ากันครับ แต่จะอันไหนก็ไม่ทราบได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงคือปริมาณข้อมูลแสดงในกราฟเลย แต่ที่เห็นแน่ๆ คือ Item C มันดูเน้นซะเหลือเกิน

ทีนี้ถ้ามาดูกราฟปกติจะเป็นแบบนี้ครับ

กราฟเดียวกัน แค่ไม่ได้ทำ 3 มิติแล้วก็บิดมุม

2. เทียบสเกลที่ขัดกัน

เชื่อว่าหลายท่านมักจะชอบใช้รูปในการเปรียบเทียบในกราฟ เพื่อให้เข้าใจในบริบทมากขึ้น ทีนี้มาดูกราฟนี้ครับ คำถามคือ A ต่างกับ B กี่เท่า

ถ้าดูจาก scale คำตอบคือ 3 แต่ถ้ามองผ่านๆ จะรู้สึกว่ามากกว่านั้น เพราะรูปของ B มีขนาดใหญ่กว่า A ถึง 9 เท่าครับ

ซึ่งถ้าต้องการจะแสดงให้เป็นเพียง 3 เท่าก็มีทางเลือกในการนำเสนอเช่น ต่อคนขนาดเท่าเดิมไป 3 คน

ในเรื่องของรูปนี่ เป็นอะไรทีต้องละเอียดมากครับ เพราะถ้าสัดส่วนอะไรเพี้ยนไปนี่ แปลผิดกันง่ายๆ เลย เช่น

รูปนี้เก็บผลไม้ทั้ง 3 ชิ้นได้… เท่ากันครับ ลักษณะแบบนี้ เราก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับขนาด และ align ให้ตรงกัน ก็เพียงพอ

3. Truncated Graph

Truncated Graph หรือ Torn Graph คือกราฟที่ไม่ได้เริ่มแกน y ที่ 0 ครับ การที่ไม่ได้เริ่มต้นที่ 0 อาจจะส่งผลต่อ scale ที่ได้จากการแสดงผลให้ผิดจากความเป็นจริงได้ครับ

รูปแรกกับรูปที่ 2 มาจากข้อมูลเดียวกัน แต่รูปแรกจะเริ่มที่ค่า y = 9100 ผลที่ได้คือ รูปที่เราเห็นจะรู้สึกว่า A จะมีค่าน้อยกว่า E 2 เท่า ซึ่งความจริง ถ้าเราคำนวณบัญญัติไตรยางค์ไป เราจะพบว่า A กับ E นั้นมีความแตกต่างเพียง 4% เท่านั้นเอง

นอกจากนี้การปรับค่าสัดส่วนแกน y หรือ x ก็จะส่งผลต่อการมองผลได้เช่นเดียวกัน

เช่น กราฟนี้ปกติจะแสดงตามรูปแรก แต่ถ้าเราเพิ่มค่าสูงสุดแกน y เข้าไป กราฟก็จะเอียงน้อยลง

4. กราฟเปรียบเทียบ ที่ไม่ใส่ scale อ้างอิง

ในบางครั้ง เพื่อการเปรียบเทียบ บางคนก็จะไม่ได้ใช้ scale จริง ในการสร้างกราฟ ทีนี้ถ้าเขาบีบ scale เข้าหรือออก มันก็จะมีผลต่อการมองได้

บางครั้งก็ไม่ใส่อะไรมาให้เลย

ดังนั้นในการพิจารณากราฟที่นำเสนอมา คงจะต้องดูให้ถี่ถ้วนสักหน่อย เพราะสมองคนเราไวต่อรูปมาก และนั่นเป็นหลักสำคัญในการหลอกตาของกราฟแสดงผลเหล่านี้

สุดท้าย แม้ว่าเราจะพบว่ากราฟที่แสดงมัน misleading แต่มันก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนที่นำเสนอมีเจตนาอย่างไร มันเป็นไปได้ในหลากหลายเหตุผล ตั้งแต่ไม่ทันดู ไม่รู้ผลกระทบ โปรแกรมทำให้อัตโนมัติ จนไปถึงเจตนาให้คนเข้าใจผิด

ก็คาดหวังว่า ถ้าใครที่ไม่เคยรู้ พอทราบแล้ว จะสามารถปรับกราฟให้แสดงผลให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นครับ

--

--

Teerayut Hiruntaraporn
Teerayut Hiruntaraporn

No responses yet