การมีลูกมากของคนจนกับ Venture Capital
ดูแล้วเหมือนไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกัน แต่ขอท้าวความก่อนครับ พอดีวันนี้ช่วงวิ่งตอนเย็นก็ได้ฟัง already podcast ของ อ.นพดล คุณปิ๊ก และคุณรวิศ ในเรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ความจน” ผู้เขียนคือ Abhijit V. Banerjee และ Esther Duflo. ผู้แปล คือคุณฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์
ในช่วงนึงอาจารย์เล่าสาเหตุของการมีลูกมากของคนจน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนตัวก็มักจะคิดว่า ก็คงมีเยอะเพราะไม่ได้วางแผนครอบครัว หรือมีเยอะเพื่อใช้แรงงาน อะไรประมาณนี้ ขณะที่พวกคนที่มีการศึกษามีฐานะ ก็จะมีมุมมองในเรื่องของ Cost หรือความเสี่ยงต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ทำให้ก็จะคิดมีลูกที่น้อยคนกว่า
เหตุผลที่อาจารย์กล่าวไว้ เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน ก็คือ การมีลูกเยอะ เพื่อที่จะมีความหวังว่า ถ้ามีคนใดโตขึ้นมาได้ดี ก็จะสามารถพึ่งพาได้
เช่นถ้ามีลูก 9 คน ขอวัดใจว่าอย่างน้อยขอคนนึงที่เติบโตไปแล้ว สามารถดำรงชีวิตได้แล้วจะได้ขอพึ่งพายามแก่เฒ่า
ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวกลับนึกถึงเรื่องการทำ Portfolio Management โดยเฉพาะกับพวก Venture Capital ที่วัดใจลง Startup ต่างๆ
ตัว Venture Capital เองก็ต้องกระจายการลงทุนไปตาม Startup ต่างๆ ที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เสียเงินลงทุนไปทั้งหมด โดยเฉพาะกับ Startup ที่โอกาสล้มสูงมากถึง 90% ขึ้นไป
และสินทรัพย์ที่โตขึ้นของ Venture Capital ส่วนใหญ่ก็มักจะมาจาก Startup ไม่กี่ราย แต่กลุ่มนั้นสามารถสร้างการเติบโตได้ 100 – 1000%
แต่ในความรู้สึกเหมือนกันนั้น ก็มีความแตกต่างอยู่พอสมควร
VC มีการคัดเลือกบริษัทในการเข้าลงทุนพอสมควร แต่การมีลูกมันคัดเลือกอะไรมากไม่ได้
VC สามารถ Nurture Startup ได้จากโอกาสและ Network ที่ทาง VC หาได้ แต่คนจนยากมากที่จะมีสภาพแวดล้อมที่เพียงพอต่อการดูแล และทำให้ลูกๆ เติบโตอย่างเหมาะสมฃ
และ Startup ใน VC ก็ไม่จำเป็นต้องช่วย Startup อื่นๆของ VC ขณะที่ ลูกที่ได้ดีก็อาจจะต้องเลี้ยงดูพี่น้องเขาด้วย นอกจากตัวพ่อแม่เอง
บางครั้งเบื้องลึกของการกระทำก็อาจจะมาจากความหวัง แต่ก็หวังว่าจะมีใครไปเพิ่มเติมข้อมูล ความรู้ หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับคนเหล่านั้น เพื่อเขาจะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
ถึงจุดนั้น ชุดความคิดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็เป็นได้