อย่าชมแค่ความพยายามอย่างเดียว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีคำแนะนำหนึ่งที่มักจะได้ยินบ่อยๆ นั่นคือ เมื่อลูกหรือลูกน้องทำงานสำเร็จ ให้ชื่นชมที่ความพยายาม แทนที่จะเป็นผลลัพธ์
ซึ่งตรงนี้อาจจะมีที่มาจากในอดีตที่เรามักจะชื่นชมหรือให้รางวัลคนที่ผลลัพธ์ ทำให้ส่งผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น คนที่พยายามให้ตายแต่ผลลัพธ์ไม่เตะตาก็จะไม่ได้รับการชื่นชมยอมรับ ก็จะหมดกำลังใจไป ขณะที่คนที่อยากจะขึ้นสู่ระดับสูง ก็จะมองว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ
นอกจากนี้ความพยายามที่จะทำให้ลูกหรือเพื่อนร่วมงาน มีสิ่งที่เรียกว่า Growth Mindset ซึ่งมีความเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ ซึ่งเน้นว่าความสามารถเป็นพรแสวง และมีคำแนะนำหนึ่งในการพัฒนาคนให้ไปสู่ Growth Mindset ว่า ให้ชื่นชมในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์
อย่างไรก็ตาม มันก็มักจะมีความสุดโต่งในการกระทำเสมอ ทำให้บางทีหลายครั้งก็จะเน้นไปที่การชื่นชมความพยายามเพียงอย่างเดียว ไม่ได้พูดถึงผลลัพธ์ หรือเรื่องอื่นๆ
จุดนั้นเอง ก็ทำให้เกิดผลกระทบในมุมที่ตรงข้ามกับการชื่นชมที่ผลลัพธ์อย่างเดียว เช่น ทุกคนก็จะพยายามนั่นแหละ แต่งานไม่เสร็จ หรืองานไม่ดี เพราะมันไม่ใช่ปัจจัยที่จะได้รับการยอมรับหรือให้รางวัล ไม่ต่างจากตอนที่เราชื่นชมเพียงผลลัพธ์เท่านั้น
ดังนั้นในภาพรวม จึงควรที่จะรักษาสมดุลย์ของการชื่นชมของทั้งสองข้าง
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมาเข้าใจในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากนั่นคือ
ความพยายามที่ดี และกระบวนการที่ดี กับผลลัพธ์ที่ดีเป็นคนละเรื่องกัน
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันมีปัจจัยมากมายในการที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ในปัจจัยเหล่านั้นก็มีสิ่งที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ เช่น คู่แข่ง หรือโชคชะตา
ดังนั้น ถ้าโจทย์ของเราต้องการให้คนพัฒนาด้วย และผลลัพธ์ที่ดีด้วย จำเป็นที่จะต้องมีสมดุลย์ระหว่างกันครับ
นอกจากเรื่องของความพยายามแล้ว ผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งที่ควรจะชื่นชม เป็นระยะๆ เพื่อให้คนของเรารับรู้ว่า เราให้ความสำคัญกับความพยายาม และผลลัพธ์ที่ดีด้วย
นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและ จะส่งผลต่อความต่อเนื่องในระยะยาวก็คือ กระบวนการในการที่จะได้ผลลัพธ์
แน่นอนว่าบางครั้งกระบวนการที่ดีอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ในระยะยาว จะสร้างโอกาสในการได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า กระบวนการที่ไม่ดี
มันไม่ต่างอะไรกับตอนที่เราต้องทำข้อสอบมหาวิทยาลัยเป็นข้อเขียน แล้วเวลาอาจารย์ตรวจข้อสอบ อาจารย์นอกจากจะดูผลลัพธ์แล้ว ยังดูวิธีการด้วย ถ้าผลลัพธ์ถูกแต่วิธีการมั่วมา ก็จะโดนตัดคะแนนไปเรื่อยๆ เพราะ อาจารย์จะทราบว่าการได้มาซึ่งผลลัพธ์ มันไม่ได้ Stable ในระยะยาว ขณะที่คนที่วิธีการถูกแต่ผลลัพธ์ผิด อาจจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน
ในหนังสือ Thinking in Bet ของ Annie Duke ให้คำแนะนำเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ อย่ามองอะไรเป็น 0 หรือ 1 ให้มองเป็นความน่าจะเป็น เพราะโลกมันมีลักษณะแบบนั้น เช่น เราอาจจะบอกว่ากระบวนการนี้มีโอกาสสำเร็จ กี่ % มันจะทำให้เราไม่ยึดติดกับอะไรมากเกินไป
เช่น เราอาจจะกำหนดว่า ความสำเร็จของผลลัพธ์นั้น อาจจะมาจาก ความพยายาม 30% กระบวนการ 40% ที่เหลือเราอาจจะควบคุมไม่ได้ ซึ่งนั่นแปลว่า ถ้าเราพยายามและมีกระบวนการที่ดี ก็มีโอกาสมากกว่า ไม่ทำอะไรอยู่แล้ว
แต่ก็ต้องเปิดช่องว่า มันอาจจะไม่สำเร็จได้
ในการชื่นชมก็เช่นเดียวกัน เราไม่ควรจะมอง 0 หรือ 1 กับเรื่อง ความพยายาม ผลลัพธ์ หรือกระบวนการ เราสามารถที่จำปรับน้ำหนักและชื่นชมไปตามความสำคัญที่เราให้ได้
ซึ่งข้อแนะนำก็คือ ให้น้ำหนักของ ความพยายามและ กระบวนการ สูงกว่าผลลัพธ์ที่ได้
ซึ่งถ้าทำอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถรักษาสมดุลย์ และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวได้นั่นเอง
อ้างอิง
- https://www.palagrit.com/what-is-growth-mindset/
- Rise & Shine Ep 111, เรื่องที่เรามักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Growth Mindset
- Thinking in Bet, Annie Duke