การใช้จิตวิทยาในการออกแบบถนน
ตัวอย่างการออกแบบถนนที่ทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุจากความเร็ว
ชิคาโก้: การใช้เส้นเพื่อลดความเร็ว
ในเมืองชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีถนนที่วิ่งเลียบทะเลสาปมิชิแกนที่ชื่อว่า Lake Shore Drive บนถนนเส้นนี้จะมีจุดหนึ่งซึ่งมีความโค้งค่อนข้างมาก แต่ก่อนหน้านี้ตรงๆ สบายๆ ทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วมาก แล้วเมื่อเข้าโค้งนี้โดยไม่ลดความเร็วก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีป้ายให้ลดความเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในปี 2006 ได้มีความพยายามในการออกแบบถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วในการขับรถก่อนที่จะเข้าโค้ง โดยการวาดเส้นขวางบนถนนเป็นขุดๆ ก่อนถึงทางโค้งที่อันตรายนั้น ปรากฏว่าเส้นที่วาดนั้น ช่วยทำให้คนลดความเร็วก่อนถึงโค้งนั้นได้
และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลง 36% ซึ่งถือว่าให้ประสิทธิภาพมากพอสมควร
ซึ่งเส้นที่เขาได้วาดไว้ มีลักษณะแบบนี้ครับ
เมื่อเราขยายดูรายละเอียด เราก็จะเห็นลักษณะการตีเส้นขวางถนนของเขาว่าเป็นอย่างไร โดยในช่วงแรกๆ นั้น จะมีการตีเส้นที่เว้นระยะห่างในระดับหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ระยะระหว่างเส้นกลับสั้นลง
ซึ่งในมุมมองบน ถนนแล้ว ผู้ขับขี่ที่ขับมาเพลินๆ จะไม่ทราบครับว่า เส้นมันไม่เท่ากัน
ผู้ขับขี่เอง เมื่อมาเจอ เส้นขวางในตอนแรก ซึ่งน่าจะ Catch สายตาได้ไม่ยากนัก ก็จะมีความคิดเบื้องต้นว่า เส้นมันเท่ากัน ก็จะประมาณค่าความเร็วไว้ในระดับนึงในการขับขี่
แต่เมื่อไปเจอเส้นที่ถี่ขึ้น ผู้ขับขี่ซึ่งเดิมเจอเส้นที่ห่าง จะรู้สึกว่า เขาขับรถเร็วขึ้น ทำให้มีการลดความเร็ว ก่อนที่จะเข้าไปสู่โค้งนั่นเอง
ตรงนี้เข้าใจว่า เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Anchoring โดยมีการสร้างหมุดเพื่อให้คนรับรู้ความเร็วฐานจากสายตา จากนั้นก็แอบทำให้เส้นถี่ เมื่อคนเห็นว่าเส้นถี่กว่าเดิม โดยสัญชาติญาณก็อาจจะคิดไปก่อนว่า ขับรถเร็วขึ้น โดยไม่ทันสังเกตว่า เส้นมันตีถี่กว่าเดิม ทำให้ปรับความเร็วลงนั่นเอง
ทำให้รู้สึกว่าถนนแคบ จะทำให้คนขับรถช้าลง
รูปนี้มาจาก Wes Craiglow, Deputy Director Planning & Development, City of Conway, AR ที่แสดงให้เห็นว่า ถนนในเขตบ้านที่เหมือนกัน มี Speed Limit ที่เหมือนกัน แต่ในความรู้สึกของคนก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันว่า ถนนไหนกันแน่ที่ควรค่าต่อการขับที่ 20mph
ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือรูปด้านบนมีทัศนวิสัยที่ดีกว่า ถนนก็กว้างกว่า ขณะที่ข้างล่าง ต้นไม้เยอะ มองไม่เห็นรอบข้าง เลนก็แคบกว่า
ซึ่งเมื่อคนเห็นว่า เขาสามารถมองเห็นอะไรได้ชัดเจน และปลอดภัยไม่น่าจะขับตกเลย เขาก็จะมีความมั่นใจที่จะขับรถให้เร็วขึ้น
เช่นเดียวกันในเมืองไทยครับ ถ้าเราเจอซอยแคบแบบนี้ ก็จะไม่กล้าที่จะขับเร็วเช่นเดียวกัน
ซึ่งวิธีการแบบนี้ มีการทำการสำรวจและทดลองก็พบว่า ผู้ขับขี่ที่เห็นพื้นที่ที่ที่แคบ หรือมีต้นไม้ เสาอะไรข้างๆ มีแนวโน้มว่าจะขับด้วยความเร็วที่ลดลง
นอกจากนี้ ก็อาจจะมีการเสริมด้วยอุปกรณ์ข้างถนน หรือทำให้ถนนไม่ได้ตรงไปตรงมา ก็จะช่วยให้ลดความเร็วได้เช่นเดียวกัน
เบื้องหลังการออกแบบที่ทำให้คนลดความเร็ว
หลังจากที่เห็นกรณีต่างๆมาแล้ว เราก็จะพบว่า เบื้องหลังการลดความเร็ว จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในหัวครับ
- ถ้าเรารู้สึกว่าเราขับเร็วกว่าที่เราคิด เราจะเริ่มไม่มั่นใจว่าเราคุมรถได้ และเราจะเริ่มกลัว
- ถ้าถนนแคบมีกำแพงอยู่ล้อมรอบ เราก็จะกังวลว่าหูรถจะไปชนกำแพงไหม
- ถ้าข้างๆถนนมีต้นไม้ มีตึกเยอะ แล้วขับไปเจอสี่แยก เราก็จะไม่มั่นใจว่ามีรถวิ่งมาจากอีกทางหรือเปล่า เพราะเราไม่เห็น
จากทั้งหมด จะเห็นว่า มันมีเบื้องหลังที่คล้ายๆ กันหมดนั่นคือ
ความไม่แน่นอน และความกลัว
เมื่อไหร่ที่คนกลัว กังวล เขาจะไม่ขับรถเร็ว
เมื่อไหร่ที่คนมั่นใจ รู้สึกปลอดภัย เขาจะขับเร็วขึ้น
ในปัจจุบัน แนวคิดในการออกแบบถนนในช่วงหลัง ได้ปรับเปลี่ยนจาก การออกแบบเพื่อประสิทธิภาพ ไปสู่การออกแบบ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถนนมากขึ้น
ถนนอาจจะไม่ได้กว้าง ไม่ได้ดูขับสบายเหมือนเดิม แต่ข้อเสียต่างๆ จะมาช่วยให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน คนอื่นๆ ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งอาจจะดีกว่าเดิมในภาพรวมก็เป็นได้
Reference:
- Nudge: สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม, สำนักพิมพ์ WeLearn
- https://www.caranddriver.com/features/a25378462/road-design-for-safer-driving/
- https://www.strongtowns.org/journal/2021/8/6/the-key-to-slowing-traffic-is-street-design-not-speed-limits
- Psychological Traffic Calming, http://www.20splentyforuk.org.uk/UsefulReports/TRLREports/Psychological%20traffic%20calming_TRL_2005.pdf