ความเข้าใจผิดในการแก้ปัญหา

--

เรื่องนี้สรุปมาจากหนังสือเรื่อง High Speed Problem Solving ของคุณ เทระชิตะ คาโอรุ + ใส่ความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมครับ

ทำไมคนเราถึงล้มเหลวในการแก้ปัญหา

ถ้ายังจำประโยคที่ว่า “ท่าไม้ตายเดิมใช้กับเซนต์ไม่ได้เป็นครั้งที่สองหรอก” ในการ์ตูนเรื่องเซนต์เซย่า ปัญหาที่เราเจอก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่

แม้ว่าเราจะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาในแต่ละครั้งแล้วเราก็จัดเก็บมันไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า “ประสบการณ์” แล้วเราก็คาดหวังว่า สิ่งที่เคยสำเร็จในอดีตจะสามารถแก้ไขปัญหาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม หลายสิ่งหลายอย่างบนโลกก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บริบทของปัญหามันต่างจากปัญหาเดิมในอดีต

ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันฟุตบอล เรามักจะเห็นนักฟุตบอลหรือแม้กระทั่งผู้จัดการทีม ที่เคยประสบความสำเร็จจากในสโมสรหนึ่ง ไปล้มเหลวในอีกสโมสรหนึ่ง หรือแม้กระทั่งสโมสรเดียวกันเอง ตัวผู้เล่นเหมือนเดิมแต่ผลงานกลับไม่เหมือนเดิม

ข่าวร้ายคือ เรามักจะคุ้นเคยว่าประสบการณ์เก่ามันสามารถใช้แก้ปัญหาได้ เพราะตอนเราเรียนและทำแบบฝึกหัด มันแก้ได้ตลอดเลย

แต่สิ่งนั้นก็กำลังบอกว่าประสบการณ์เก่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องลืม แต่เราต้องเอามันมาใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น

เราจึงควรที่จะต้องระวังการใช้ประสบการณ์เก่า ในการพิจารณาปัญหาใหม่ (ที่ดูคล้ายกับปัญหาเดิม)​

ความเข้าใจผิดที่เชื่อมโยงกัน

หลายคนเชื่อว่าการใช้เวลามาก จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องไปคิดให้รอบด้าน หาข้อมูลมากมายเพื่อประกอบการตัดสินใจ

เมื่อเราลงลึกเข้าในในรายละเอียด ก็เป็นไปได้ว่าเขาเหล่านั้น ต้องการความสมบูรณ์แบบในการแก้ปัญหา

โดยพยายามหาข้อมูล อุดรูรั่วในการแก้ปัญหา ให้สมบูรณ์แบบ 100%

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็มีสิ่งที่ให้คิดต่อ ซึ่งในบริบทของเขาจะเป็นโลกของธุรกิจ

แล้วอะไรคือคำว่าสมบูรณ์แบบในโลกธุรกิจ

เรามักจะพบคนที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจหลายๆคน แต่ถ้าตั้งใจจะไปลอกสูตรเขา ก็จะบอกว่า แต่ละคนใช้ท่าที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน

เคสในปัจจุบันที่มักจะพูดกันบ่อย คือ เคสเจ้าสัวธนินทร์ กับ เสี่ยเจริญ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งคู่ แต่มีเทคนิคในการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน

ในโลกธุรกิจ ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์

และนั่นเป็นสาเหตุที่เราจะหาคำตอบที่ถูกต้อง 100% ไม่ได้

ในหนังสือจะแนะนำว่า 70% ก็เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาที่ไม่นานเกินไป และถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เราก็สามารถกลับมาแก้ไขได้

วิธีการแก้ปัญหาที่ดี

การแก้ปัญหาที่ดี มีอยู่ 2 เรื่องตามหนังสือ

  1. การแก้ปัญหาต้องเร็ว และสามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันได้
  2. ต้องเห็นด้วยกับการแก้ปัญหา เรื่องนี้จำเป็นเพราะจะทำให้มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา

ส่งท้าย

ไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญหรือเปล่า มันไปตรงกับสิ่งที่เจฟ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon พูดเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจพอดีว่า

Make a decision if you have 70% of the information you think you need. You will never have all of the information you think you need so just accept it

และ

Get comfortable with uncertainty through flexibility.

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะระวังคือ ถ้าคุณรู้สึกว่า คุณได้ข้อมูลครบ 100% สำหรับปัญหาที่คุณกำลังแก้อยู่ มันอาจจะช้าเกินไปแล้วครับ…

ที่มา

  1. High-Speed Problem Solving, เทระชิตะ คาโอรุ
  2. http://mrzepczynski.blogspot.com/2019/03/the-bezos-70-percent-rule-for-decision.html

--

--

Teerayut Hiruntaraporn
Teerayut Hiruntaraporn

No responses yet