คุณคือปัญหาอยู่หรือเปล่า
ในบางครั้งแม้เราจะมีความตั้งใจที่ดี แต่บางครั้งเราก็อาจจะเป็นปัญหาซะเองได้
ในช่วงศตวรรษที่ 19 สูตินารีแพทย์ชื่อ อิกแนท เชมเมลไวส์ แห่งโรงพยาบาลกลางเวียนนา พยายามหาสาเหตุที่การเสียชีวิตในห้องทำคลอด ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 1 ใน 10 หรือ ผู้หญิงที่เข้าห้องทำคลอด 10 คน จะต้องมี 1 คนที่เสียชีวิต
ความน่ากลัวของสถิตินี้ถึงขนาดทำให้ผู้หญิงบางคนยอมคลอดลูกที่ถนนแล้วค่อยเข้ามาที่โรงพยาบาล
หรือแม้กระทั่งอ้อนวอนขอหมอให้ย้ายไปที่แผนกอื่น ที่มีอัตราการเสียชีวิต 1 ต่อ 50 แทน
โดยที่ตัวของคุณหมอเองได้พยายามตรวจสอบหาสาเหตุนี้ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเรียกว่าติดเชื้อระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งก็มีวิธีรักษาในแต่ละอาการทีแสดงออกมาแยกกันเช่น ถ้าเป็นอาการอักเสบก็ใช้ท่านึง อาการบวมก็ท่านึง หรืออาการหืดหอบก็ท่านึง
ซึ่งแม้ว่าพยายามจัดการแก้ปัญหาให้เป็นระบบขึ้น ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
แม้กระทั่งความพยายามที่จะไปตรวจสอบความแตกต่างระหว่างหน่วยของตัวเอง กับอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็พบเพียงว่า คนทำเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ ขณะที่ฝ่ายตัวเองเป็นหมอ เท่านั้นเอง เพราะแม้จะควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้เหมือนกันหมดแล้ว ก็ไม่ได้ผลอะไร
ต่อมาคุณหมอมีเหตุให้ต้องไปเยี่ยมเยียนที่โรงพยาบาลที่ต่างจังหวัดเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อกลับมาก็พบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น นั่นคือ
อัตราการเสียชีวิตในส่วนงานของเขานั้นลดฮวบฮาบในช่วงที่เขาไม่อยู่
คุณหมอรู้สึกแปลกใจจึงได้พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุ และก็พบสิ่งสำคัญเรื่องหนึ่ง
นั่นคือ คุณหมอในโรงพยาบาลนอกจากจะรักษาคนไข้แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องทำวิจัยด้วย
แล้วในการวิจัยนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการวิจัยกับ “ศพ”
ซึ่งในช่วงเวลานั้นความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยไม่ได้มีมากนัก หมอจึงไม่คิดว่าการที่สลับมาทำวิจัยกับการมารักษาคนไข้ มันจะเสียหายตรงไหน
จากข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้เขาสามารถพัฒนาทฤษฏีการติดเชื้อระหว่างการคลอดบุตร โดยลงความเห็นว่า
อนุภาคจากซากศพและคนไข้รายอื่นๆ ถูกถ่ายทอดไปสู่คนไข้ที่สุขภาพดีผ่านมือของหมอ
ดังนั้นจึงได้กำหนดนโยบายให้หมอต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสารละลายคลอรีนผสมปูนขาวก่อนจะลงมือตรวจคนไข้
ผลที่ได้คือ
อัตราการเสียชีวิตลดลง เหลือ 1 ต่อ 100 ทันที
แม้กระทั่งหมอที่ความตั้งใจและพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรักษาคนไข้ แต่กลับเป็นพาหะในการนำพาเชื้อโรคเสียเอง
ในบางครั้ง แม้กระทั่งคนที่มีความตั้งใจดีที่สุด ก็อาจจะนำพาอะไรบางอย่างที่ทำให้องค์กรมีปัญหาอยู่ก็เป็นได้
แม้กระทั่งตัวเราแม้จะมีความตั้งใจทีดี แต่บางครั้งอาจจะมีจุดบอดที่เราคาดไม่ถึง และก่อให้เกิดปัญหาได้ อย่าได้ประมาทและมองข้ามตัวเองไป เพื่อที่จะพัฒนาสิ่งที่ดีต่อไปได้
ที่มา
หนังสือ “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” ของ The Arbinger Institute