ตอบผิด vs ไม่พูด
ถ้าเราพบว่าลูกน้องเก็บปัญหาในการทำงานยอมไม่บอก จนกระทั่งปัญหามันใหญ่ขึ้น อะไรคือสาเหตุของปัญหา
ถ้าลูกของเรามีปัญหาที่โรงเรียน แต่ไม่ยอมกลับมาบอก จนกระทั่งเรื่องมันใหญ่ระดับต้องเชิญผู้ปกครองกัน อะไรคือปัญหากันแน่นะ
หลายๆครั้ง เราก็มักจะแก้ปัญหาแบบนี้ ด้วยการเรียกลูกน้องไปด่า เรียกลูกไปด่า แต่นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหา หรือว่าสร้างปัญหาใหม่กันแน่
สิ่งแรกที่อยากให้พิจารณากันคือ ทำไมเขาเหล่านั้นถึงไม่บอกเรา?
ส่วนตัวคิดประมาณนี้ครับ
พฤติกรรมที่ตอบสนอง
เราน่าจะเคยเห็นคนถามคำถามที่รู้สึกว่าดูโง่ หรือพูดอะไรที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูก คำถามคือเราตอบสนองกับคำถามหรือคำตอบนั้นยังไงครับ
ถ้าพร้อมที่จะหัวเราะ เยาะเย้ย ถากถาง นั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลนึงที่ ครั้งต่อไปเขาจะไม่คุยกับคุณ
โดยปกติ มนุษย์ก็มักจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และมนุษย์ก็เรียนรู้จากประสบการณ์เก่า
ดังนั้นการตอบสนองในทางลบ ก็จะทำให้คนเหล่านั้นหลีกเลี่ยงการเข้าหา ทำให้พลาดโอกาสอะไรอีกมากมาย
ค่านิยมหรือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการตอบสนอง
ค่านิยมที่ต่างขั้ว มักจะนำมาสู่การหลีกเลี่ยงพูดคุย
เราเปิดรับความเห็นขนาดไหน?
เรายอมรับความผิดพลาดแค่ไหน?
หรือเรายอมรับว่าการแขวะเป็นการแสดงความฉลาดอย่างหนึ่งหรือไม่?
วัฒนธรรมหรือประเพณีที่ติดตัวมา
ในบางสังคม ผู้น้อยไม่บังอาจที่จะแสดงความเห็นกับผู้ใหญ่
ในที่ทำงานเราอาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า HIPPO ซึ่งจะมักจะทำให้คนไม่แสดงความเห็นอยู่เสมอ
บางครั้งวัฒนธรรมบางอย่างก็สร้างความสูญเสีย เป็นบทเรียนบทใหญ่ได้
ในปี 1999 Korean Air เที่ยวบินที่ 8509 ตก ด้วยเหตุที่ว่าจอแสดงทิศทางการบินของกัปตันทำงานผิดพลาด แต่ของนักบินผู้ช่วยทำงานปกติ แต่เนื่องจากวัฒนธรรมเกาหลีที่ผู้น้อยไม่กล้าแสดงความเห็นต่อผู้อาวุโสนั่นเอง
นั่นส่งผลให้ช่วงปี 2000 สายการบินได้ทำการเทรนนักบินอย่างหนักเพื่อที่จะทำลายวัฒนธรรมที่ฝังมาในหัวนั้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด
ในหนังสือเรื่อง No Rules Rule ตัว CEO Reed Hastings เคยนำเอาไอเดียที่เขาคิดว่าดีมากไปนำเสนอกับที่ประชุมซึ่งไม่มีใครค้านอะไร แต่ไปพบเจอปัญหาตอนที่จะไปพบลูกค้า เขาถามลูกน้องว่าทำไมถึงไม่ค้านทั้งๆที่รู้กันอยู่แล้ว ลูกน้องก็บอกง่ายๆ ประมาณว่านายว่าดีก็คงดี นั่นทำให้ Netflix ต้องแก้ไขวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการแสดงความเห็นใหม่
ส่งท้าย
ในปี 2004 เด็กผู้หญิงชื่อทิลลี่ สมิธ มาเที่ยวหาดไม้ขาวกับครอบครัว ในวันหนึ่งระหว่างที่เธอเล่นน้ำทะเลอยู่ คลื่นก็ไม่กลับมาที่ฝั่ง ทะเลถอยออกไปไกลมาก เธอคุ้นๆ ว่าภาพที่เห็นคล้ายๆ กับภาพสึนามิที่เธอได้เรียนมาเมื่อไม่นาน จึงไปบอกคุณพ่อ
คุณพ่อใช้ความกล้าหาญ ไปบอกกับพนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ได้ทำการอพยพคนที่หาด กลับโรงแรมและอยู่ที่ชั้น 3
สักพักนึงทะเลก็กลับมา เป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามาหาฝั่ง
เกิดสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดครั้งหนึ่ง
แต่หาดไม้ขาวกลับไม่มีผู้เสียชีวิต จากความกล้าของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และการรับฟังสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและดูเหมือนจะเป็นเรื่องไร้สาระของ รปภ.
สำหรับความเข้าใจผิดในวันนี้ คำแนะนำที่เป็นมิตรจะนำไปสู่ความถูกต้องในวันหน้า แต่ถ้าคุณทำลายมันด้วยการเย้ยหยัน เสียงก็จะตายพร้อมกับความกล้า แล้วคุณจะไม่ได้ยินมันอีกเลย
ที่มา
- https://www.dek-d.com/studyabroad/33232/
- One + One = Three , Dave Trot