ทักษะการแก้ปัญหา — กำหนดเป้าหมายก่อนหาสาเหตุ

Teerayut Hiruntaraporn
1 min readFeb 8, 2021

--

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เนื้อหานี้เป็นภาพรวมของหนังสือ 3 เล่มครับ คือ

  • High Speed Problem Solving — เทระชิตะ คาโอรุ
  • Systematic Problem Solving ของเซนเซแป๊ะ วิฑูรย์ สูงกิจบูลย์
  • Problem Solving 101 — เค็น วาตานาเบะ

ซึ่งถ้าเข้าใจภาพรวมคร่าวๆ แต่ละเล่มก็จะมีแนวทางหรือกระบวนการที่ไปในทางเดียวกัน เช่น

  • คุณคาโอรุ ก็ลำดับ ว่า มองปัญหา, กำหนดเส้นชัย , หาสาเหตุ และแก้ปัญหา
  • เซนเซย์แป๊ะจะลำดับว่า What, Where, How much, Why, How
  • คุณเคนจะซับซ้อนหน่อยเพราะมีหลายเคส แต่ก็จะอารมณ์ รู้จักปัญหา*,​ หาสาเหตุ, สร้างสมมติฐาน ,​วิเคราะห์และทดสอบสมมติฐาน ,​คิดค้นวิธีแก้ปัญหา ,​ ปฏิบัติ

ซึ่งโดยภาพรวมก็มักจะเห็นว่า จะมีการกำหนด เส้นชัย หรือเป้าหมายไว้ ก่อนที่จะหาสาเหตุของปัญหา ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เลยพยายามจะลองคิดว่าทำไม เราต้องกำหนดเป้าหมายก่อนหาสาเหตุ

Disclaimer: ก่อนที่จะอ่านต่อ ขอย้ำว่า นี่คือความเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่ได้เป็นกฎอะไรที่ถูกต้องตลอดเวลา อนาคตอาจจะมีความรู้ความเข้าใจใหม่ทำให้เปลี่ยนไปก็ได้

นอนตื่นสาย

ถ้าเราเจอคนที่นอนตื่นสาย เวลาเราถามว่าทำไม คำตอบก็คงมีได้หลายอย่างเช่น เมื่อคืนนอนดึก พักผ่อนไม่พอ หรือบางครั้งอาจจะได้รับคำตอบว่า แสงอาทิตย์แยงตาเลยตื่นสาย

ถ้าใครเจอคำตอบหลัง อาจจะรู้สึกกวนๆ นิดๆ เหมือนกับคนที่ตอบดูไม่มีปัญหาเลย

ใช่ครับ

ประโยค “นอนตื่นสาย” อาจจะใช่หรือไม่ใช่ปัญหาก็ได้ครับ

ถ้าเรานอนตื่นสาย ตอนวันหยุดที่ไม่มีการนัดอะไร แล้วอยากจะนอนให้ยาวๆ บ้างมันก็จะไม่ใช่ปัญหา

แล้วเมื่อไหร่ถึงเป็นปัญหาหล่ะ

ก็ถ้าเราตื่นสาย ในวันที่เราคาดหวังว่าต้องตื่นเช้า เพื่อจะไปประชุมให้ทัน อันนี้น่าจะเป็นปัญหา

หรือถ้าเราตื่นสาย แต่วันนั้นเราควรจะต้องตื่นสักบ่ายสาม เพราะต้องไปทำงานกะดึกในช่วง 5 โมงเย็นถึงตีสอง อันนี้ก็เป็นปัญหา อีกแบบนึง

ปัญหาคือช่องว่างระหว่างสภาพปัจจุบันกับเป้าหมาย

ในหนังสือ HP Problem Solving คุณคาโอรุ อธิบายว่าปัญหาคือช่องว่างระหว่างสภาพปัจจุบันกับสภาพพึงประสงค์

เซนเซแป๊ะก็อธิบายคล้ายๆ กันว่า ปัญหา = สิ่งที่อยากได้ — สิ่งที่เป็นอยู่

โดยที่สภาพพึงประสงค์คือสิ่งที่ต้องการในจินตนาการ หรือถ้าอีกมุมนึงก็คือเป้าหมายที่ต้องการก็เป็นได้

ในตัวอย่างในหนังสือ่ HP PB, และ Systematic PB จะยกตัวอย่างคล้ายๆ กันคือ ยอดขายตกจากที่ต้องการ เวลาที่เราพูดแบบนี้ แสดงว่า มันต้องมีเป้าหมายในใจที่ต้องการให้ได้อยู่

ขณะที่ตัวอย่างในหนังสือ PB 101 จะยกกรณีการจัดคอนเสิร์ตซึ่งคนไปน้อย จากเป้าหมายคือต้องเต็มโรงยิม หรือ กรณีจะซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ ก็จะมีการแจกแจงว่าตอนนี้มีเงินอยู่เท่าไหร่ และ ต้องการเงินอีกเท่าไหร่เพื่อที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ได้ภายใน 6 เดือน

ในทางตรงกันข้าม ถ้ายอดขายเดียวกัน เราบอกว่าดีอยู่แล้ว การหาสาเหตุว่าทำไมมันดีอยู่แล้ว ย่อมแตกต่างจาก สาเหตุว่าทำไมมันน้อยกว่าที่คาด หรือถ้าต้องการจำนวนคนที่จะดูคอนเสิร์ตแค่ 1 ห้อง การวิเคราะห์สาเหตุก็จะเบากว่าความต้องการให้เต็มโรงยิม

GAP Analysis

สิ่งหนึ่งที่จะเห็นในหนังสือทั้ง 3 เล่ม คือกราฟแสดง GAP Analysis ซึ่งจะเป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์พึ่งประสงค์ มีความแตกต่างกันเพียงใด

ส่วนตัวชอบการแสดงผลของเซนเซแป๊ะ ที่แบ่ง GAP ออกเป็นประเภท 3 ประเภท คือ ปัญหาที่ผิดปกติ, ปัญหาที่ท้าทาย และปัญหาเชิงวิสัยทัศน์

Cr: Slide ของเซนเซย์แป๊ะเรื่อง Lean

หาสาเหตุจากกรอบของปัญหา

เมื่อเราเข้าใจปัญหาและระดับของปัญหาแล้ว การหาสาเหตุจะมีความสอดคล้องกับเป้าหมายนั้น

เราหาสาเหตุเพื่อจะหาวิธีแก้เหตุนั้น เพื่อให้เกิดผลคือ การมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

ถ้าไม่มีเป้าหมาย ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไข คล้ายกับเรื่องการนอนตื่นสายในวันหยุด ที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร

การที่เราหาสาเหตุ เพราะแต่ละคนจะมีนิยามปัญหาตามความเห็นของตัวเอง

ย้อนกลับมาที่เรื่องนอนตื่นสาย ถ้าใครก็ตามที่ได้รับคำถามนี้แล้ว ตอบมาอย่างเร็วว่า นอนไม่พอ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิดอย่างไร

แต่เป็นเพราะเรามีปัญหาอยู่ในหัวโดยสามัญสำนึกอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะค่อนข้าง ที่จะ subjective แต่ละคนที่ได้ยินคำถามนี้อาจจะคิดไม่เหมือนกัน

นั่นเห็นอีกเหตุผลนึงที่ เราจำเป็นที่จะต้องกำหนด ปัญหาและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในทีม เห็นภาพเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อเจอปัญหาเดียวกันนั่นเอง

ส่งท้าย

ก่อนที่จะหาสาเหตุของปัญหา อย่างลืมเข้าใจบริบทของปัญหาที่ชัดเจนก่อนนะครับ จะช่วยให้เราแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้นครับ

ขอบคุณผู้เขียนหนังสือทั้งสามเล่มครับ

--

--

Teerayut Hiruntaraporn
Teerayut Hiruntaraporn

No responses yet