พิจารณาข้อเท็จจริง ด้วยหลักการ PLATO
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เรื่องนี้เป็นประสบการณ์หนึ่งจากการที่ได้ไปเรียนการสื่อสารอย่างสันติ หรือ Non-Violent Communication ที่เสมสิกขาลัยเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเป็นแนวทางที่ดีและช่วยลดอุณหภูมิในพูดคุยกันได้ดี เลยเอามาแชร์กันครับ
การแยกการสังเกตออกจากการตีความ
ในองค์ประกอบแรกของการสื่อสารอย่างสันติ คือการสังเกต ซึ่งในที่นี้เราจะหมายถึงการพูดถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับทราบ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดว่า “คุณทำงานช้า” เริ่มต้นมาหลายคนอาจจะนึกว่ามันเป็นการสังเกตได้ เพราะก็เราสังเกตไงว่าเขาทำงานช้า
แต่อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามที่ได้ยินที่เราพูดคำนี้ อาจจะไม่ได้รู้สึกเป็นอย่างนั้น อาจจะพูดกลับมาว่า “ใครช้า นี่ก็เร็วมากแล้ว”
และแน่นอน เราก็อาจจะควันขึ้นหู แล้วก็ตอบกลับไปว่า “คุณนี่ไงช้า ก็เห็นๆกันอยู่”
ที่เหลือก็ไปจินตนาการกันต่อไปครับ ว่าจะเป็นยังไงต่อ…
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เราจะเรียกประโยคลักษณะนี้ว่า “การตีความ” หรือ “การตัดสิน” ครับ
แล้วการตีความแตกต่างจากการสังเกตอย่างไร ขอให้ดูประโยคนี้ครับ
“ตอนนี้เวลา 17:30 เราคุยกันว่าจะต้องทำงานให้เสร็จและส่งตอน 17:00 ครับ นี่เลยไปครึ่งชั่วโมง”
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของประโยคนี้คือ เนื้อหามีรายละเอียด เนื้อความก็สรุปประมาณว่าทำงานช้าเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าจะมีความรู้สึกอยากความขัดแย้งน้อยกว่าประโยคแรกเยอะมาก
เพราะการสังเกต ในที่นี้จะมีลักษณะการเห็นพ้องต้องกัน ในเหตุการณ์นั้นๆครับ
ขณะที่ประโยคที่เป็นการตีความ จะไม่ได้มีการเห็นพ้องต้องกันของคู่สนทนา นี่คือความแตกต่างที่สำคัญของ การตีความและการสังเกตครับ
ถึงตรงนี้ก็ลองไปฝึกดูข่าวสารใน Facebook ดูก่อนได้ครับ ว่าอันไหนเป็นการตีความ อันไหนเป็นการสังเกต
PLATO
จริงๆ แล้วหลักการของ PLATO จะถูกเขียนไว้เป็นแนวทางในการแยกแยะวิธีการกับความต้องการในองค์ประกอบข้อที่ 3 ของการสื่อสารอย่างสันติ แต่พี่ที่เป็นวิทยาการแนะนำมาว่า เราสามารถใช้ท่าเดียวกันในการช่วยแยกแยะการตีความและการสังเกตได้เช่นเดียวกัน
โดย PLATO เป็นการรวมกลุ่มของคำย่อของ:
- Person บุคคล
- Location สถานที่
- Action การกระทำ
- Time เวลา
- Object วัตถุ สิ่งของ
โดยลักษณะของประโยคที่เป็นการสังเกตนั้น จะประกอบด้วยกลุ่มคำเหล่านี้ ครับ ยิ่งครบทุกตัวยิ่งมีรายละเอียดมากขึ้น และเป็นการสังเกตได้ง่ายขึ้น
สาเหตุหนึ่งคือ พอมันเป็นรายละเอียดที่เป็นการสรุปความเป็นตัวตนของบุคคล มันจะไม่สามารถตีความให้เห็นไม่เหมือนกันได้ยาก และเกิดการยอมรับในประโยคนั้น
และเมื่อประโยคดูทำให้เป็นข้อสังเกตแล้ว มันเลยดูเห็นต่างได้ยากครับจึงทำให้ไม่ได้โอกาสที่จะขัดแย้งในเรื่องของข้อมูลน้อยลง
อันนี้ขอยกตัวอย่างจากในหนังสือขึ้นมาให้ดูสักหน่อยนะครับว่าคำพูดที่ไปในโทนเดียวกันจะพูดในเชิงตีความและสังเกตได้อย่างไร
- เขาเป็นนักเทนนิสทีห่วยแตกจริงๆ
จากการแข่งขันเทนนิสที่ผ่านมา 10 ครั้ง เขาแพ้ไป 9 ครั้ง - เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนี้ไม่เอาไหน
ผมรอมา 50 นาที จึงได้พบหมอ - เธอไม่เคยคิดถึงฉันเลย
เมื่อวานฉันโทรหาเธอ 4 ครั้ง แต่เธอไม่รับสายเลย
ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กันนะครับ โดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงนี้ที่ดูร้อนกันพอสมควร ลองฝึกฝนและทดลองใช้กันดูนะครับ
ที่มา
- สื่อสารอย่างสันติ, ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์