เทคนิคการบริหารผู้ใช้ของ Clubhouse ในช่วงเริ่มต้น
เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนน่าจะติด clubhouse กันงอมแงมจนกระทั่งนอนดึกกันไปเป็นแถว แต่ถ้าใครใช้ Android ก็คงจะรู้สึกน้อยใจที่ตัว App มันยังไม่สามารถใช้งานในเครื่อง Android Smart Phone ได้
เราก็เลยอยากจะย้อนกลับไปดูช่วงแรกๆ ของ clubhouse จากข้อมูลใน blog ของ Clubhouse และเว็บไซต์ protocol กันครับ
ทำไมถึงยังไม่เปิดให้ใช้งานแบบสาธารณะกันทุกคน
ใน Blog ของ Clubhouse คุณ Paul และ Rohan ได้ให้เหตุผลเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ
- เขาให้ความสำคัญกับการที่จะไม่เพิ่มอัตราการเติบโตผู้ใช้จนเกินไป เพื่อที่จะให้มั่นใจว่า ระบบจะอยู่ในการควบคุมได้ ไม่ระเบิดไปก่อน, สามารถดูแลความหลากหลายของสมาชิกใน community ได้ และสามารถปรับจูนระบบได้ตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- ทีมเขาเล็กมาก มีคนทำงาน Full-Time ในช่วงระยะเวลา 1–3 เดือนแรก เพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งมันมีงานมากมาย ตั้งแต่การ scale ระบบ, พัฒนาฟีเจอร์, เก็บฟีดแบค, และทำให้บริษัทเติบโต (นอกจากนี้ยังต้องเลี้ยงลูกด้วย)
ทางผู้ก่อตั้งทั้งสองย้ำว่า บริษัทไม่ได้ต้องการให้ตัว clubhouse เป็น exclusive อยู่แล้ว เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดจึงทำให้ต้องบริหารจัดการในรูปแบบนี้
การใช้ประโยชน์จาก Apple TestFlight ในการเชิญผู้ใช้แรกเข้าสู่ระบบ
ถ้าใครได้ตามข่าวการทะเลาะกันระหว่าง Apple กับ Hey mail ซึ่งจะมีการกล่าวอ้างจาก Apple ว่า จะไม่ยอมให้ App ที่ไม่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้เข้ามาสู่ในระบบ
Clubhouse ซึ่งเป็น App ที่รับคนโดยใช้ invite ก็จะมีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถออก App ให้ผู้ใช้ในช่วงแรกไปใช้ได้
สิ่งที่ Clubhouse แก้ปัญหา และเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่น่าศึกษาคือ การใช้ TestFlight ในการส่ง invite app ไปให้กับผู้ใช้
ถ้าใครไม่รู้จัก TestFlight ตัวนี้คือระบบที่ใช้ในการเอา iOS App มาลงบนเครื่องโดยไม่ต้องผ่าน App Store ซึ่งปกติแล้วจะใช้สำหรับการทดสอบเสมือนจริง โดย นักพัฒนาจะสามารถเอา App ไปลงบนเครื่อง iPhone และสามารถส่ง invite ให้บุคคลที่น่าเชื่อถือลง App เพื่อทดสอบได้
Clubhouse จึงควบคุมจำนวนผู้ใช้จากการอนุญาตผู้ใช้ให้ ใช้งาน app ผ่าน TestFlight ได้ นั่นเอง ใครที่ได้รับการลงชื่อไว้ ก็จะสามารถ download app มาใช้งานได้
สิ่งนั้นทำให้ Clubhouse สามารถควบคุมจำนวนการเข้ามาของผู้ใช้ระบบได้ ซึ่งก็ตรงตามแผนการที่ได้วางไว้ว่าจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้ใช้อย่างช้าๆ นั่นเอง
ที่สำคัญที่สุด เนื่องจาก Model ของ Clubhouse ก็เป็นลักษณะของ Platform อยู่แล้ว จึงต้องให้ความสำคัญกับการเกิดของ Network Effect ด้วย นั่นแปลว่าจะต้องแก้ปัญหา ไก่กับไข่เสียก่อน
ซึ่งทาง Clubhouse ก็สามารถที่จะส่ง TestFlight Link ให้กับ VC หรือ CEO ผู้มีชื่อเสียงใน Silicon Valley ได้ ซึ่งคนกลุ่มนั้นก็จะเป็น Magnet ดึงคนอื่นๆ ให้มาฟังเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ส่งท้าย
ส่วนตัวคิดว่าแนวคิดเบื้องหลังของการปั้น Clubhouse เป็นอะไรที่น่าสนใจ โดยในช่วงแรกไม่ได้ต้องการให้มีการเติบโตของผู้ใช้มากเกินกว่า ทรัพยากรที่สามารถควบคุมได้
ตรงนี้ ก็มีกรณีศึกษาของแบรนด์ที่พยายามจะเติบโตมากเกินไป จนควบคุมระบบไม่ได้ และทำให้บริการต่างๆไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะทำให้เสียความน่าเชื่อถือกันไป
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการเลือกผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ใช้ในช่วงแรกๆ ที่ดี ทำให้ตัว Platform มีแรงดึงดูดและความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ส่วนตัวนึกถึงคำ 3 คำที่ มันเหมาะเจาะพอดี และไม่ค่อยจะคิดว่า จะมาอยู่ในบริบทของ Startup สักเท่าไหร่ นั่นคือ
- พอประมาณ — รับผู้ใช้เพิ่มให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
- มีเหตุผล — ด้วยจำนวนคนที่ดูแล และทรัพยากรที่จำกัด และสามารถ pinpoint ผู้ใช้ใหม่ได้
- มีภูมิคุ้มกัน — ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ควบคุมได้ ในช่วงแรก ถ้ามีปัญหาก็ยังสามารถเข้าแก้ไขหรือปรับแต่งได้ง่าย
อย่างไรก็ตามกาลเวลาผ่านไป ปัจจุบันคิดว่า Clubhouse น่าจะเปลี่ยนแผนให้เริ่มเติบโตมากขึ้นแล้ว สังเกตจาก invite ที่มันไม่หมดเสียที…
นั่นหมายถึง กลยุทธ์สามารถเปลี่ยนได้ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ได้อยู่นิ่งตลอดและไม่ได้วิ่งตลอด ทั้งหมดอยู่ในความสมเหตุสมผลในช่วงนั้น