เบียร์, Sticky Note และ อิทธิพลของคนอื่น

--

ในหนังสือ “พฤติกรรมพยากรณ์” บทที่ 15 แดน อาเรียลี่ได้ทำการทดลองเพื่อทดสอบพฤติกรรมและความรู้สึกในการเลือกเบียร์มาดื่ม โดยจะแนะนำเบียร์อยู่ 4 ยี่ห้อให้กับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มของผับแห่งหนึ่ง แล้วให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกเบียร์นั้น

โดยในช่วงแรก อาจารย์จะให้ลูกค้าแต่ละคนในกลุ่มพูดชื่อเบียร์ที่ต้องการมาตามลำดับ จำนวน 50 โต๊ะ

และอาจารย์ก็ได้เปลี่ยนวิธีการเลือกเบียร์ของลูกค้า โดยจะให้กระดาษกับแต่ละคน เพื่อเขียนชื่อเบียร์ที่ต้องการของตัวเอง แล้วส่งกลับมาให้อาจารย์ ดังนั้นแต่ละคนก็จะไม่ได้ยินว่าเพื่อนในโต๊ะสั่งเบียร์อะไรไป

ผลที่ได้เป็นอะไรที่น่าสนใจ คือ กลุ่มแรกที่มีการพูดชื่อเบียร์ออกมา จะมีการสั่งที่หลายหลายกว่าอีกกลุ่มที่ไม่ทราบว่าแต่ละคนสั่งอะไร

แต่เมื่อถามความพึงพอใจในเบียร์นั้น กลับพบว่า คนกลุ่มแรกถ้าไม่นับคนแรกๆ จะมีความพึงพอใจในเบียร์น้อย

เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพียงเพราะว่า กลุ่มที่ได้ยินว่าใครสั่งเบียร์อะไร คนจะพยายามเลือกเบียร์ที่ยังไม่ได้เลือก เพียงเพื่อจะแสดงว่าพวกเขามีความคิดเป็นของตัวเอง และไม่ได้เลียนแบบใคร ดังนั้นเขาเลือกเบียร์เพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เบียร์ที่ต้องการหรือชอบดื่ม ซึ่งเบียร์นั้นก็อาจจะไม่ใช่เบียร์ที่ชอบ จึงทำให้ความพึงพอใจออกมาต่ำนั่นเอง

สิ่งที่เห็นสรุปออกมาได้ว่า คนเราสามารถสละความพึงพอใจบางอย่าง เพื่อแลกกับภาพลักษณ์ที่ดีในสายคนอื่น

ซึ่งคำว่าภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนอื่นนั้น ก็จะมีบริบทตามสังคมที่อยู่อีกด้วย

เช่น อาจารย์ได้ไปทำการทดสอบแบบเดียวกันที่ฮ่องกง แล้วพบอะไรที่คล้ายๆ กัน แต่เนื่องจากวัฒนธรรมตะวันออก มักจะมองว่าการเป็นตัวเด่นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ผลที่ได้คือ สมาชิกในโต๊ะจะลอกเลียนแบบคนที่เลือกก่อนมากกว่าที่จะเลือกให้ไม่ซ้ำกับคนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามก็เป็นการเลือกในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ต้องการจริงๆ อยู่ดี ซึ่งผลลัพธ์ความพึงพอใจก็ไม่ได้ต่างจากที่ได้ทดลองในอเมริกานั่นเอง

ในช่วงปี 2014 ส่วนตัวได้มีโอกาสไป Workshop ของ Lean Startup Machine ที่สิงคโปร์ ในงานมีการแบ่งกลุ่มไปทำ Project ที่ได้ทำการ Pitch มาของผู้ที่มาร่วมงานนั้น

ในงานนั้นแม้ว่าจะมีกระดานหรือกระดาษให้เขียน แต่สมาชิกในทีมก็มักจะใช้ Sticky Note ในการเขียนประเด็นต่างๆ หรือการแสดงความเห็นในคำถามนั้นๆ โดยที่แต่ละคนก็จะเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่ได้สนใจว่าเพื่อนๆ จะเขียนอะไร

หลังจากนั้นก็นำเอา Sticky Note มาแปะ ที่กระดาน แผ่นไหนที่ดูมีประเด็นที่ใกล้เคียงกัน ก็จะเอามาแปะไว้ด้วยกัน ยิ่งแปะซ้อนกันเยอะๆก็แสดงว่ามีหลายคนที่เห็นด้วยกันกับประเด็นนั้นๆ

จากนั้นทีมก็จะให้เจ้าของอธิบายสิ่งที่เขียนใน Sticky Note ของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำกันทุกแผ่น หลังจากนั้นจึงค่อย Discuss อะไรกันว่าจะเอายังไงต่อ

ส่วนตัวก็เห็นประโยชน์ของเรื่องนี้ว่า

  • มันทำให้ทุกคนได้แสดงความเห็นของตัวเองในมุมมองของเขาจริงๆ
  • เราเห็นสิ่งที่หลายคนเห็นตรงกันโดยไม่มีอิทธิพลของคนอื่น
  • เราได้ทำให้สมาชิกได้กล้าแสดงความเห็นมากขึ้น ถ้าลำดับกระบวนการได้ถูกวิธี

เมื่อเอามารวมกับการทดลองของ อ. แดน เราก็จะพบเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ

ทุกคนจะพอใจในการการแสดงความเห็นของตัวเอง เพราะนั่นคือสิ่งที่เขามองอย่างนั้น โดยไม่มีอิทธิพลของผู้อื่นมา ทำให้ต้องพูดเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ให้ความสนใจมากนักแทน แล้วทำให้ความรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้พูดสิ่งที่อยากพูดมากกว่าไป

ส่วนตัวได้เคยลองเอาเรื่องนี้มาใช้ ตอนกลับมาจากงานนั้น แล้วก็พบว่าได้ผลที่ดีพอสมควร น้องๆในรุ่นที่ลองทำเรื่องนี้ ก็เป็นรุ่นน้องที่แสดงความเห็นได้ดีในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันที่รู้สึกว่าการใช้ Sticky Note เป็นเรื่องไร้สาระ เลยทำให้ช่วงหลังๆ ไม่ได้เอามาใช้ในการพูดคุยสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเรื่องหนึ่ง

ก็หลังจากอ่านหนังสือของ อ. แดนเข้าไปก็คิดว่า ควรจะกลับมาใช้งานต่อ

ถ้าโดนบ่นๆ ระยะสั้นๆ แต่ได้ดอกผลในระยะยาวๆ ก็น่าจะเป็นอะไรที่น่าภูมิใจอยู่เหมือนกัน

ที่มา

  1. พฤติกรรมพยากรณ์ , Dan Ariely

--

--

Teerayut Hiruntaraporn
Teerayut Hiruntaraporn

No responses yet