เบื้องลึกของเพลงตามสายช่วง 5 โมงเย็นของญี่ปุ่น
ถ้าเราได้เดินทางไปยังแถบบ้านคน หรือย่านชนบทหน่อยๆ ขอญี่ปุ่น ในช่วงเวลาเย็นๆ ก็มักจะได้ยินเสียงเพลงขึ้นมาจาก ลำโพงที่ถูกติดตั้งอยู่ที่เสาสูงๆ ทำไมเขาถึงเปิดเพลงนั้น แล้วมันมีเบื้องลึกอะไรกัน
ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภัยพิบัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ซึนามิ ดินถล่ม หรือแม้กระทั่งน้ำท่วม ดังนั้นเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที จะได้อพยพได้ทันท่วงที่ ส่วนสำคัญคือความเร็วในการแจ้งเตือนประชาชน
ในการแจ้งเตือนประชาชนนั้นเรามักจะเป็นในรูปของ SMS โทรศัพท์, Application หรือสัญญาณในรายการโทรทัศน์ แต่ยังมีอีกจุดหนึ่งที่เราอาจจะไม่ค่อยเห็นนัก นั่งก็คือจากเสียงตามสายนั่นเอง
ในบริเวณพื้นที่ชุมชน มักจะมีการติดตั้งลำโพงเพื่อที่จะแจ้งข่าวสารต่างๆ โดยลำโพงนั้นจะมีชื่อเรียกว่า “5pm Chime” (五時のチャイム) แต่ถ้าต้องการชื่ออย่างเป็นทางการก็จะบอกว่า ‘Municipal Disaster Management Radio Communication Network’ (市町村防災行政無線).
พูดง่ายๆ ว่าเป็นเสียงตามสายจากทีมจัดการภัยพิบัติของเมืองนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันจะมีวัตถุประสงค์ในการจัดการภัยพิบัติ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นทุกวันแบบนั้น ทีนี้ถ้าลำโพงถูกตั้งไว้เฉยๆ แล้วไม่เคยถูกนำมาใช้เลย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า วันที่เกิดปัญหาขึ้นจริงๆ มันจะใช้งานได้ ซึ่งกาลเวลาก็อาจจะทำให้ลำโพงเกิดมีปัญหาในวันที่อยากใช้มันมากที่สุดก็ได้
ดังนั้นยังไงก็แล้วแต่ ก็ต้องมีการทดสอบลำโพงเพื่อให้มั่นใจว่าลำโพงใช้งานได้ แล้วจะทดสอบกันยังไงดี
ถ้าจะทำแบบ Maintenance Period มันก็ดูเปลือง และดูเป็นพิธีกรรมมากไปหน่อย
ดังนั้นก็ขอให้คนในชุมชนช่วยๆกันดีกว่า ก็เปิดทดสอบ แล้วให้ประชาชนช่วยกันดูหน่อยนึง ก็ดูแล้วเป็นวิธีที่น่าสนใจ แต่ถ้าอยู่ๆ ไปขอแบบไม่มีประโยชน์อะไรตอบแทนเลย มันก็ดูแปลกๆ แล้วก็เสียงที่ทดสอบ ก็จะกลายเป็นความเพิกเฉย และคนอาจจะรู้สึกดีที่เสียงมันหายไปก็ได้
โดยปกติแล้ว เด็กเล็กๆของญี่ปุ่นจะถูกขอให้กลับบ้านก่อนค่ำ หรือช่วงเวลาประมาณ 5-6 โมงเย็น เพื่อความปลอดภัยในสวัสดิภาพของตัวเด็กเอง
ดังนั้นในมุมนี้ จึงได้มีแนวคิดที่จะเอาลำโพงมาใช้ประโยชน์ ให้เป็นการส่งสัญญาณว่า
เด็กๆ จ๋า ได้เวลากลับบ้านกันแล้วนะ
จึงได้มีการเลือกเพลงที่เหมาะสมในสถานการณ์ดังกล่าว แล้วก็ได้เพลงพื้นเมืองญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Yuyaku Koyake (夕焼け 小焼け) มาเล่นนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อคนในชุมชนได้ยินเพลงนี้แล้ว ก็จะรับรู้ได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่เด็กเล็กๆ คนจะรีบกลับบ้าน เด็กๆ ก็ได้ประโยชน์ ผู้ใหญ่ก็ได้ประโยชน์
และถ้าวันไหนเสียงมันหายไป คนในชุมชนก็จะช่วยแจ้งทางทีมงานให้แก้ปัญหาต่อไปได้นั่นเอง
สิ่งสำคัญการต่อสู้กับภัยพิบัติที่ยังมาไม่ถึง คือการเตรียมพร้อมที่จะรับมือ
การตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แต่ในวิธีการนั้น เราสามารถหาวิธีที่สร้างสรรค์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้เช่นเดียวกัน
ที่มา
- ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น — เดินสำรวจบ้านนอกญี่ปุ่น ไซตามะชินโตชิน https://youtu.be/wsw5TUHPwYE
- https://blog.gaijinpot.com/tokyo-5pm-song/