เรื่องของพระเอก-พระรอง
ในการออกแบบอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด หน้าเว็บ user interface เชื่อว่าจะต้องมีเนื้อหาหลักที่จะสื่อ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เนื้อหาหลักที่จะสื่อก็จะมีเพียงเรื่องเดียว เช่นถ้าเราต้องการสื่อสารถึงวงกลมสีดำ เราก็เอาวงกลมมาวางไว้กลางรูป ก็เป็นอันเสร็จพิธี
แต่ในสถานการณ์จริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น มันมีข้อมูลอะไรมากมายที่จะอยากยัดเข้าไปในพื้นที่ที่จำกัดนั้น แล้วถ้าใจเราไม่แข็งแรงพอ รักพี่เสียดายน้อง เราก็จะใส่ content ให้มันเท่ากันไปแบบนี้
ทีนี้เมื่อเราถ้าเรารู้สึกว่ามันยังเด่นไม่พอ แล้วอยากทำให้มันเด่นทั้งคู่ สิ่งที่เราจะทำก็คือก็ให้พื้นที่วงกลมทั้งคู่แบบนี้
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าวงกลมทั้งสองก็มาแย่งความสนใจซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นเนื้อหาเราก็จะพบว่า เราก็จะหาวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการที่จะสื่อสารจริง ไม่ได้ ทำให้การสื่อสารมันไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการออกแบบเรื่องหนึ่งคือ
You cannot emphasize everything
ถ้าเราทำให้ทุกอย่างมีความสนใจทั้งหมด มันก็จะแย่งความสนใจจากกันและกัน
และสุดท้ายก็จะไม่มีอะไรน่าสนใจนั่นเอง
ดังนั้นในการออกแบบและสื่อสาร จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า การเน้นหรือการให้ความสำคัญในวัตถุใดก็ตาม มันเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์กับวัตถุอื่นๆ ภายในบริบทที่วัตถุนั้นๆ อยู่ เช่น ถ้าวงกลมเดิม เราขยายข้างนึง และย่อขนาดไปข้างนึง
ความสนใจจะวิ่งมาสู่วงกลมที่ใหญ่กว่า เรื่องนี้คือการเน้นโดยใช้ขนาด
หรือ ถ้าเราลดความเข้มของสีของวงกลมหนึ่งลง เราก็จะพบว่าวงกลมอีกวงจะมีความเด่นชัดกว่าวงกลมที่เราได้ลดสีไป
แม้กระทั่งรูปแบบของฟอร์มก็มีผล อะไรก็แล้วแต่ที่ดูแปลกแยกจากเพื่อนก็ได้รับการเน้นได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งสุดท้ายเมื่อเราเอามารวมกัน ก็จะช่วยให้เราเน้นและดึงดูดสิ่งที่เราจะสื่อได้
สิ่งที่ได้ในเรื่องนี้คือ การที่จะเด่นได้ มันต้องมีการเปรียบเทียบ และในการเปรียบย่อมต้องมีวัตถุที่ยินยอมที่ลดความเด่นของตัวเองลง
เพื่อให้ภาพรวมของสิ่งที่ต้องการจะเสนอเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในรูปแบบที่ดีที่สุด
มีแสงมีเงา มีความมืดมีความสว่าง ถ้าไม่มีความมืดก็ไม่มีความสว่าง ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรโดดเด่น
แม้กระทั่งเหล่าฮีโร่ เองก็มีพระรองหรือศัตรูที่จะมาช่วยทำให้เขาเด่นขึ้นมา เพราะเมื่อตัวร้ายหายไป โลกก็กลับสู่ภาวะสงบ และการมีตัวตนของฮีโร่ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป