ทักษะการแก้ปัญหา —กำหนดเป้าหมาย

--

กลับมาเรื่องทักษะการแก้ปัญหาต่อครับ ครั้งก่อนเราพูดถึงเรื่องว่า เราต้องกำหนดเป้าหมายก่อนจะหาสาเหตุ ที่นี้ก็จะมาดูต่อไปว่าแล้วเราควรจะกำหนดเป้าหมายยังไงดี

เมื่อทุกอย่างกำกวมก็หาทางไปต่อได้ยาก

สมมติว่าเราต้องได้ดูแลระบบการลงทะเบียนอะไรสักอย่าง ในวันที่ใช้งาน ผู้คนเข้ามาใช้ล้นหลาม ระบบไม่สามารถทนต่อปริมาณการใช้งานมากขนาดนั้นได้ จึงหยุดการทำงานตัวเองลง ท่านจึงไปถามหัวหน้าว่าเราจะทำยังไงดี หัวหน้าเลยตอบว่า

“ทำให้มันดีอ่ะ”

เชื่อว่าจะมีคำถามมากมายในระหว่างที่ท่านกลับไปนั่งแก้ปัญหาเช่น

  • ดียังไง
  • แค่นี้พอไหม
  • มันต้องดีทุกเรื่องไหม
  • แล้วดีของเรากับของหัวหน้าจะเหมือนกันไหม

เมื่อท่านรู้สึกว่ามันฟุ้งวุ่นวายไปหมด สุดท้ายคิดอะไรไม่ออกก็เลย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเริ่มระบบกลับมา แล้วก็ทุกอย่างก็วนไปวนมาไปจนจบวัน

หลักการเบื้องต้นของความชัดเจนของเป้าหมาย

แม้ในหนังสือทั้งสามเล่มอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่ แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ และโชคดีที่มันเหมือนกันทั้งสามเล่ม โดยขอให้เรา ตอบคำถามเพียง 3 อย่างสำหรับเป้าหมายที่เราต้องการ อันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วใครสะดวกใช้ Framework อะไรต่อไป ก็เอาที่ชอบที่ชอบครับ

โดยสิ่งที่ต้องมีสำหรับการตั้งเป้าหมายจะมีอยู่ 3 อย่าง ดังนี้ครับ

1. จะทำอะไร (WHAT)

2. จะทำเมื่อไหร่ (WHEN)

3. จะทำอย่างไร (HOW)*

ในหนังสือจะมียกตัวอย่างแบบนี้ครับ

  • ฉันอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์มือสองของซากุระราคา 60,000 เยน ใน 6 เดือน โดยไม่ขอยืมเงินจากใคร
  • ภายในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ กอบกู้ยอดขายต่ำกว่าเป้า 700 ล้านของจักรยานที่กระบวนการวางแผน

ตรงนี้จะเป็นหลักการพื้นฐานครับ แต่ถ้าใครจะไปถึง SMART Goal ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

ปัจจัยเพิ่มเติมสำหรับการกำหนดเป้าหมาย

นอกเหนือจากที่กล่าวมา 3 เรื่องแล้ว ยังมีข้อแนะนำอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกครับ

  • กำหนดผู้ลงมือทำให้ชัดเจน
  • เป้าหมายต้องเห็นภาพชัดเจน
  • หลีกเลี่ยงคำที่ใช้ความรู้สึกกะๆเอา เช่น เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ลดลงปานกลาง
  • ใช้ตัวเลขให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ความชัดเจนและเป็นรูปธรรมของเป้าหมายจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจและเดินหน้าแก้ปัญหา ได้รวดเร็วและไม่หลุดประเด็นครับ

ก็หวังว่าจะมีประโยชน์ในการกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาครับ

ปล. ในหนังสือ Systematic Problem Solving และ High-speed problem solving อาจจะไม่ได้บอกเป็น How แบบเพียวๆ แต่จะบอกถึงระดับปริมาณ มากกว่า

ที่มา

  1. High Speed Problem Solving, เทระชิตะ คาโอรุ
  2. Systematic Problem Solving, วิฑูรย์ สูงกิจบูลย์
  3. Problem Solving 101, เค็น วาตานาเบะ

--

--

Teerayut Hiruntaraporn
Teerayut Hiruntaraporn

No responses yet